วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กิจกรรมเสนอแนะ

๑ กลุ่มสาระการเรียนรู้  ๘ กลุ่ม คือ  ภาษาไทย   คณิตศาตร์  วิทยาศาสตร์  สังคมศึกษา   ศาสนาและวัฒนธรรม    สุขศึกษาและพลศึกษา   ศิลป    การงานอาชีพและเทคโนโลยี      และภาษาต่างประเทศ  

๒  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้แก่  กิจกรรมแนะแนว  และกิจกรรมนักเรียน  เช่น   ลูกเสือ  เนตรนารี  ยุวกาชาด  และผู้บำเพ็ญประโยชน์

สำหรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน   เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง ๘  กลุ่ม เป็นการพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย   สติปัญญา   อารมณ์     และสังคม  จัดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติ ให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม  และมีระเบียบวินัย กองการลูกเสือ   ในฐานะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ  คำว่า  “ลูกเสือ” ในที่นี้  ให้หมายรวมถึง  “ เนตรนารี”  ด้วย       เพราะ เนตรนารี  ก็คือ  ลูกเสือหญิงนั่นเอง

ดังนั้น    เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐ  ในการพัฒนาการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช ๒๕๔๔ ตามช่วงชั้นที่กำหนด โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ กองการลูกเสือ ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ ๑ ครั้ง  ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๙ กรกฏาคม  ๒๕๔๕ ณ เดือนฉายรีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งได้เรียนเชิญ นายพะนอม  แก้วกำเนิด   อดีตอธิบดีกรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ  และผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายวิชาการ   ประจำสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ  เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม      พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนา การเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  ในการนี้  ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะว่า   ควรแบ่งเนื้อหาสาระของหลักสูตรกิจกรรมลูกเสือทุกประเภท หรือเรียกว่า “มวลกิจกรรม” ออกเป็น  ๑๐ หน่วยกิจกรรม  คือ

๑. ระเบียบวินัย และทักษะทางลูกเสือ
๒. การดำรงชีวิต
๓. ศรัทธายึดมั่น ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และวัฒนธรรม
๔. สนองพระคุณบิดา  มารดา และผู้มีพระคุณ
๕. เทิดทูนเกียรติคุณ สถานศึกษา บูชาพระคุณครู  อาจารย์
๖. เพื่อนช่วยเพื่อน
๗. ลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกัน
๘. วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  เพื่อแก้ปัญหาพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม
๙. สืบสานมรดก ภูมิธรรม  ภูมิปัญญาไทย
๑๐. สู่ความเป็นเลิศ

อนึ่ง  การจัดประชุมสัมมนาฯ  ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ฯ ประกอบด้วย ครูผู้สอนกิจกรรมลูกเสือจากสถานศึกษาต่าง ๆ ทุกระดับ  และเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของ นายพะนอม แก้วกำเนิด ที่ให้นำไปพิจารณา  โดยกำหนดตัวกิจกรรมจากเนื้อหาสาระของหลักสูตรกิจกรรมลูกเสือทุกประเภท และทุกช่วงชั้นเรียนในแต่ละปี    ให้มีสาระการเรียนรู้ทั้ง  ๑๐  หน่วยกิจกรรมดังกล่าว  แต่ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาและลูกเสือแต่ละประเภทด้วย  ตามการแบ่งช่วงชั้นเรียน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฯ  ดังนี้

ป. ๑ - ป ๓     -   ลูกเสือสำรอง  
ป.๔ – ป. ๖    -   ลูกเสือสามัญ
ม.๑ – ม. ๓    -    ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
ม. ๔ - ม. ๖    -   ลูกเสือวิสามัญ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖  กองการลูกเสือพิจารณาเห็นว่า  เพื่อเป็นการสานต่อจากการประชุมครั้งที่แล้ว จึงได้จัดให้มีการประชุมสัมมนา ฯ อีกครั้ง  ระหว่างวันที่ ๔ - ๖ มิถุนายน ๒๕๔๖  ณ  โรงแรมระยองออคิด  จังหวัดระยอง  และได้เรียนเชิญ นายพะนอม  แก้วกำเนิด  ไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม  พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติมด้วย โอกาสนี้ ท่านได้ชี้แนะแนวทางการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือว่า ขอให้คำนึงถึง หลักการ วัตถุประสงค์และวิธีการเรียนรู้ของลูกเสือ  ตามพันธกิจหลัก(Mission) ของการลูกเสือ ซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจน ตามนโยบายขององค์การลูกเสือโลก เพื่อให้เยาวชนไทยสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ

ซึ่งกิจกรรมตามหลักสูตรของลูกเสือทุกประเภทนั้น สามารถจัดให้สอดคล้องตามแนวการจัดหน่วยกิจกรรม ทั้ง ๑๐ หน่วยดังที่ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งที่แล้ว  (วัตถุประสงค์ของทั้ง ๑๐ หน่วยกิจกรรม ก็สอดคล้องกับผังมโนทัศน์ของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔)  

นอกจากนี้ นายพะนอม แก้วกำเนิด ยังให้คำแนะนำว่า  ครูผู้สอนกิจกรรมลูกเสือ   ควรทราบข้อกำหนด และระเบียบต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้การเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือประสบผลสำเร็จ  ดังนี้

การจัดมวลกิจกรรมลูกเสือต้องคำนึงถึง
๑. วัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
๒. จุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔
๓. เป้าหมายของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๔. ผังมโนทัศน์กิจกรรมลูกเสือของกรมวิชาการ
๕. วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ
๖. วัตถุประสงค์ขององค์การลูกเสือโลก
๗. มวลกิจกรรมเสนอแนะ ๑๐ หน่วยกิจกรรม ของผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายวิชาการ
๘. สาระกิจกรรมเพื่อเครื่องหมายพิเศษ
๙. วิชาพิเศษต่าง ๆ สู่ความเป็นเลิศ
๑๐. ความคิดริเริ่มของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้   ได้แบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็นกลุ่มปฏิบัติการ ๔ กลุ่ม  ตามประเภทของลูกเสือ  ซึ่งเป็นครูผู้สอนกิจกรรมลูกเสือและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    เพื่อร่วมกันพิจารณา   จัดทำร่างแนวทางการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือทุกประเภทตามช่วงชั้นที่กำหนด ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฯ โดยนำเนื้อหาสาระของหลักสูตรลูกเสือทั้งหมด จัดให้อยู่ในมวลกิจกรรมลูกเสือ  ๑๐  หน่วยกิจกรรม ตามข้อเสนอแนะของ นายพะนอม  แก้วกำเนิด  ปรากฎว่า ผู้เข้าร่วมประชุม สามารถจัดทำร่างแนวทางการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือสำเร็จในระดับหนึ่ง   ซึ่งกองการลูกเสือจะได้นำร่างแนวทางการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือจากที่ประชุมครั้งนี้   นำไปสู่การประชุมพิจารณาในวงกว้างขึ้น  โดยจะเชิญผู้แทนจากผู้เข้าร่วมประชุม ฯ  และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพิจารณา    เพื่อให้การจัดทำร่างดังกล่าวมีความครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  จากนั้นจะได้นำเสนอตามขั้นตอนที่ถูกต้อง   เพื่อให้สามารถเผยแพร่เป็นคู่มือการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ ตามช่วงชั้นที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช ๒๕๔๔ ให้กับสถานศึกษาต่อไป